6/22/2553

รู้ทันโรคฮิตป่วยหลังเปิดเทอม






รู้กันไปตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่า โรคฮิตรับเปิดเทอม ประกอบด้วย โรคหวัด โรคไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคไข้เลือดออก... ‘มุม สุขภาพ-ภาษาหมอ’ ยังอยู่กับ พญ.พรรุ้ง พฤทธิพงศ์สิทธิ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่วันนี้จะพูดคุยถึงแนวทางการรักษา

สำหรับโรคหวัดและโรคไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ จะต้องรักษาแบบประคับประคอง เน้นให้เด็กที่ป่วยพักผ่อนมาก ๆ ร่วมกับการรักษาตามอาการอื่น ๆ ที่เกิดแทรกเข้ามา เช่น ไอ มีน้ำมูก แพทย์ก็จะจัดยารักษาตามอาการ ทั้งยังรักษาด้วยวิธีใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อล้างเอาน้ำมูกออกจากโพรงไซนัส

แต่ทั้งสองโรคข้างต้น มักมีภาวะแทรกซ้อน อย่าง อาการเจ็บหู หมายถึง หูชั้นกลางเกิดการอักเสบ คนส่วนใหญ่จึงได้เห็นแพทย์สอดเครื่องมือเพื่อตรวจหู หากอักเสบก็จำเป็นต้องรับยาปฏิชีวนะไปรับประทาน

ต่อมาเมื่อแพทย์ใช้เครื่องมือกดลิ้นแล้วให้เปิดปากกว้าง ๆ ก็เพื่อดูต่อม ทอนซิล ถ้าเกิดการอักเสบก็จะบวมแดง และอาจมีหนอง ซึ่งจะทำให้รู้สึกเจ็บคอ ก็จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอีกเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนอีกอย่างที่พบมาก คือ ไซนัสอักเสบ มีน้ำมูกเกิน 10 วัน น้ำมูกข้นเขียว และไอหนักขึ้นเรื่อย ๆ พาลจะกลายเป็นหวัดเรื้อรัง อาการเช่นนี้แพทย์อาจต้องตรวจละเอียดถึงขั้นเอ็กซเรย์

ขณะที่โรค มือ เท้า ปาก หากป่วยแล้วแพทย์จะแนะนำให้เด็กลาหยุดเรียนทันที โดยให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย มักจะหายได้ในเวลา 7-10 วัน โดยส่วนใหญ่แพทย์จะระวังให้ระวังเรื่องการขาดน้ำ และรักษาแผลตุ่มน้ำใสขอบแดงในเพดานปากด้วยยาป้ายหรือยาทาน

สุดท้าย การรักษาโรคไข้เลือดออก ที่ต้องระวังเป็นพิเศษในระยะวิกฤติ หรือช่วงวันที่ 5 ซึ่งแพทย์ไม่สามารถให้ยาลดไข้สูงได้ เพราะไม่ต้องการให้คนไข้ช็อกหมดสติ เนื่องจากจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิม โดยทำได้เพียงให้นำเกลือหากคนไข้ไม่สามารถรับประทานได้ ให้เลือดหากมีเลือดออก และเจาะเลือดทุกวันเพื่อตรวจดูจำนวนเกล็ดเลือด

อยากทราบวิธีป้องกันสุขภาพจากโรคยอดฮิตที่ระบาดในช่วงเปิดเทอม ตามอ่านต่อพรุ่งนี้.

takecareDD@gmail.com

ภาพประกอบจาก www.momlogic.com