6/26/2553

อาการโรคหืดรักษาไม่ยากเท่าที่คุณคิด

ในคนปกติ จะมีผิวหลอดลมเรียบ ลมหายใจผ่านได้ดี ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ในผู้ที่เป็นโรคหืดจะมีหลอดลมอักเสบบวมตีบแคบ ลมผ่านไม่สะดวก มีอาการ ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ช่วงอาการกำเริบหลอดลมจะยิ่งตีบตัน มีเสมหะอุดตัน กล้ามเนื้อหลอดลมหดรัดตัว ลมผ่านได้ยากมีอาการหายใจวี้ด ไอมาก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย

อีกทั้งหลอด ลมในโรคหืดจะไวต่อสิ่งกระตุ้น จึงควรสังเกตว่ามีสิ่งกระตุ้นใดที่ทำให้อาการหืดแย่ลง และสำคัญมากที่จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น ๆ

สิ่งกระตุ้นอาการโรคหืด

ตัวอย่างสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่น ซึ่งอาศัยอยู่กับขี้ไคลที่หลุดจากผิวหนังของมนุษย์ ชอบความชื้น และมักพบมากในฝุ่น ในบ้าน ฟูก หมอน ผ้าปูที่นอน พรม รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ จึงแนะนำว่าควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้พรม เฟอร์นิเจอร์ที่เก็บฝุ่น หมอนที่ไม่จำเป็น และตุ๊กตา โดยเฉพาะในห้องนอน หมั่นกวาดถูบ้านหรือดูดฝุ่นบ่อย ๆ ส่วนสิ่งกระตุ้นอีกประเภทหนึ่งก็คือ สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หนู นก สัตว์มีขนต่าง ๆ จะมีขี้ไคล น้ำลาย ที่ผู้ป่วยอาจแพ้และกระตุ้นให้อาการหืดกำเริบจนควบคุมไม่ได้

จึงแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคหืดไม่ควรเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสัตว์เลี้ยงจะทำให้อาการหืดแย่ลง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่หากไม่สามารถเลิกเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ ก็ไม่ควรนำเข้าห้องนอน และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าใกล้พรมหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เก็บฝุ่น สัตว์อีกชนิดที่เป็นตัวกระตุ้นก็คือ แมลงสาบ ซึ่งซากหรือสิ่งคัดหลั่งจากแมลงสาบ จะทำให้เกิดการแพ้ได้

นอกจากนี้ ควันบุหรี่จากการสูบทั้งภายในและนอกบ้าน ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้เช่นกัน การติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลลงคอ หรือมีไซนัสอักเสบ จะทำให้อาการแย่ลงได้ ส่วนปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งร้อนจัด เย็นจัด ความเครียด การออกกำลังกายโดยไม่อบอุ่นร่างกาย และใช้ยาแก้อาการหืดก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ก็อาจทำให้อาการกำเริบได้ ฉะนั้น จึงควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ปอดแข็งแรง นอกจากนี้ สิ่งที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง ละอองเกสร หญ้า เชื้อรา ควันรถยนต์ และยาบางชนิด ก็อาจเป็นปัจจัยของการกำเริบอาการหืดได้เช่นกัน

การรักษา

การรักษาในปัจจุบัน ทำได้โดยการใช้ยาสูดพ่นเป็นหลัก เนื่องจากสามารถออกฤทธิ์ได้โดยตรงที่หลอดลมและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาชนิด รับประทาน ซึ่งมี 2 ชนิดคือ

1. ยาที่ใช้ระยะยาวเพื่อควบคุมและป้องกันหืด เป็นยาที่ต้องใช้ต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันและลดการอักเสบของหลอดลม เมื่อควบคุมการอักเสบได้โอกาสที่จะมีอาการหืดกำเริบจะลดน้อยลงมาก จนมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติ โดยมากมักเป็นยาสเตียรอยด์ชนิดสูด และจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องกันทุกวันระยะยาว เพื่อให้ได้ผลการควบคุมและป้องกันได้ดี

2. ยาชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น เป็นยาสูดที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดลมอย่างรวดเร็ว เมื่อมีอาการหืด เกิดขึ้นแล้วเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้นและสามารถใช้ก่อนการออกกำลังกายเพื่อ ป้องกันการกำเริบขณะออกกำลังกายได้ มีข้อแนะคือ ผู้ป่วยควรพกยาชนิดนี้ติดตัวเสมอเมื่อออกจากบ้านและควรใช้ยาให้ถูกวิธี หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุ เสมอ

ในผู้ป่วยที่ควบคุมอาการได้ดีแล้ว มักจะไม่มีอาการกำเริบ จนเรียกได้ว่า มีชีวิตใกล้เคียงคนปกติ และต้องใช้ชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น เพื่อบรรเทาอาการน้อยมาก

เป้าหมายในการควบคุมโรคหืด

การรักษาโรคหืดในปัจจุบันมุ่งให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยที่สุด ควบคุมอาการได้ดี จนใกล้เคียงคนปกติ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามต้องการ ดังนี้

- ไม่มีอาการหอบในช่วงระหว่างวัน

- ไม่มีอาการหอบในช่วงเวลากลางคืน

- ไม่มีอาการกำเริบของโรคหืด เช่น หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ หรือไอ

- ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น

- ไม่ต้องไปห้องฉุกเฉิน เนื่องจากอาการหอบ

- ค่าสมรรถภาพปอดปกติ หรือมากกว่า 80% ของค่าเป้าหมาย

- ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคหืด

โรคหืดเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องระยะยาว ผู้ป่วยจึงควรมารับการรักษาตามนัดทุกครั้งและใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมและป้องกันหืดไม่ให้กำเริบและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

แต่หากมีอาการกำเริบ แนะนำให้ปฏิบัติตามดังต่อไปนี้

- เมื่อมีอาการหอบ เหนื่อย ไอมากขึ้น แน่นหน้าอก ให้สูดยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว 1-3 ครั้ง ห่างครั้งละ 10 นาที

- สังเกตอาการ หากอาการดีขึ้น ก็ให้สูดยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็วทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ต่ออีกเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้ไปพบแพทย์

- หากอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

* อ้างอิงภาพประกอบจาก http://ic-enzyme.com/respirat. html *

ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี
หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล