6/26/2553

ไขข้อกังวลกับโรคด่าวขาว

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานพบว่า อาจเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี เกิดความผิดปกติภายในเซลล์สร้างเม็ดสีที่มีการทำลายตัวเอง เกิดความผิดปกติในกลไกการกำจัดอนุมูลอิสระ และความผิดปกติของสารที่หลั่งจากปลายประสาทมาทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี เป็นต้น

ลักษณะการเกิดด่างขาว รอยโรคจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีอาการ ลักษณะผื่นที่ขึ้นในตอนแรกจะเป็น สีขาวจางขอบเขตไม่ชัด แต่เมื่อเป็นนานขึ้นจะเห็นเป็นสีขาว ขอบชัดเจน อาจมีรูปร่างวงกลม วงรี หรืออาจมีหลายวงรวมกันจนเป็นวงใหญ่ที่มีขอบเขตหยักก็ได้ รอยโรคที่เกิดขึ้นนี้สามารถมีขนาดตั้งแต่จุดเล็กไปจนถึงปื้นใหญ่ได้ ทั้งยังพบได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้า ริมฝีปาก มือ เท้า ผิวหนังเหนือข้อ นอกจากนี้เส้นขนบริเวณผิวหนังที่เป็นโรคด่างขาวอาจมีสีขาวตามไปด้วย ในบางรายอาจเป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ในขณะที่บางรายอาจเป็นรอยขาวทั่วตัวจนเหลือสีผิวปกติเพียงบางส่วน

ด้านสุขภาพทั่วไปของผู้ที่เป็นโรคด่างขาวจะปกติดี แต่ในบางรายอาจพบโรคด่างขาวร่วมกับโรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน หรือโรคแพ้ภูมิตนเองบางชนิดได้เช่นกัน

เนื่องด้วย มีโรคผิวหนังหลายชนิดที่มีลักษณะสีขาว ดังนั้น ต้องแยกโรคด่างขาวจากโรคที่มีความผิดปกติของสีผิวอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น โรคเกลื้อน ตกกระขาว และกลากน้ำนม ออกจากกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยว่ารอยสีขาวที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุใด


สำหรับความรุนแรงและการดำเนินโรคของผู้ที่เป็นจะแตกต่างกันไป บางรายอาจเป็นเฉพาะที่ และคงอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่บางรายอาจจะมีการลุกลามเร็วในช่วงไม่กี่เดือน และในบางรายก็อาจมีเม็ดสีปกติกลับขึ้นมาเองได้

การรักษาที่สำคัญคือ การหลบเลี่ยงแสงแดด เนื่องจากสีผิวที่ขาวในบริเวณโรคด่างขาวนั้น ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากแสงแดดได้ เพราะไม่มีเซลล์สร้างเม็ดสี ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันแสงแดด ดังนั้น ผิวจะไหม้เกรียมได้ง่าย จึงควรใช้ครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ เบอร์ 15 ขึ้นไป โดยเฉพาะควรทาบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม

คำถามยอดฮิตที่ถามกันเข้ามามากก็คือ มีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้สีผิวปกติกลับมา

วิธีการที่จะทำให้สีผิวปกติกลับมามีหลายวิธี ดังนี้

1. การใช้ยา เช่น ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาทากระตุ้นสีผิว ซึ่งต้องทาและตากแดดในเวลาที่แพทย์กำหนด จะทำให้เหมาะกับผู้ที่เป็นไม่มาก และไม่สะดวกที่จะมาฉายแสง

2. การฉายแสงอาทิตย์เทียม (อัลตราไวโอเลต ชนิด เอ และ บี) ซึ่งมีทั้งชนิดฉายเฉพาะที่ และฉายทั้งตัว แต่มีผลข้างเคียงคือ อาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังได้ หากได้รับปริมาณแสงที่มากเกินไป นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเข้ามาฉายแสงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

3. การใช้เลเซอร์ เช่น เอ็กไซเมอร์ เลเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากเครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลตทั่วไป นอกจากนี้ยังมีราคาแพง และต้องเข้ามาฉายอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน

4. การปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี โดยทำการลอกผิวหนังบริเวณด่างขาวออก และนำผิวหนังปกติที่มีเซลล์สร้างเม็ดสีมาปลูกแทน วิธีนี้ให้ผลการรักษาที่ดี แต่ทำได้ครั้งละไม่มากและต้องทำซ้ำหลายครั้ง จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นบริเวณกว้าง และจะทำได้ต่อเมื่อตัวโรคไม่ลามแล้ว

5. การใช้เครื่องสำอางปกปิดสีผิว เช่น เมคอัพ ผลิตภัณฑ์แทนนิ่ง ซึ่งจะช่วยพรางสี ทำให้เห็นรอยโรคน้อยลง

หลายท่านอาจสงสัยว่าเป็นโรคนี้แล้ว จะหายขาดหรือไม่

คำตอบคือ บางรายหายขาด บางรายไม่หายแต่ดีขึ้น บางรายไม่ตอบสนองต่อการรักษาเลย และบางรายหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ แต่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดก็ตาม ต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือนจนถึงเป็นปี อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพและไม่สามารถติดต่อไปยังบุคคลข้าง เคียงได้

ดังนั้น อาจจะไม่รักษาก็ได้ หากไม่ได้กังวลเรื่องความสวยงาม บางรายอาจกังวลว่าจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังในอนาคต แต่จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดพบว่า อัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังในผู้ที่เป็นด่างขาวไม่ต่างจากประชากรทั่วไป

หลังจากได้อ่านบทความนี้แล้ว ผู้ที่มีรอยสีขาวตามตัว อาจจะเริ่มกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคด่างขาวหรือไม่ จึงแนะนำว่าให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนังก่อนจะดีกว่า เพราะบางรายอาจเป็นโรคเกลื้อน ตกกระขาว กลากน้ำนม หรือโรคอื่นที่มีลักษณะคล้ายโรคด่างขาวก็ได้ ซึ่งการรักษาในแต่ละโรคจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.

นพ.วาสนภ วชิรมน
หน่วยผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล