6/22/2553

ทดเวลาหลับ เคล็บไม่ลับฉบับ บอลโลก

เปิดสนามมาได้ 1 สัปดาห์พอดิบพอดี สำหรับฟุตบอลโลก 2010 ช่วง 7 วันนี้ หลายคนอาจจะเห็นบรรยากาศในที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งในห้องเรียนที่คล้ายๆ กัน กล่าวคือ เหลียวซ้ายไปก็เห็นคนหาว เหลียวขวามาก็เจอคนฟุบหลับสัปหงก อนุมานเอาจากช่วงเวลาได้ว่า บรรดาผู้ที่กำลังง่วงเหงาหาวนอนเหล่านี้ น่าจะเป็นเหล่าคอบอลที่ยอมอดตาหลับขับตานอน รอเชียร์ทีมโปรดของตัวเอง

และแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าการนอนดึกเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายสุขภาพ แต่เหล่ามิตรรักลูกหนังต่างก็โอดเป็นเสียงเดียวกันว่า 4 ปีจะมีสักหน บิ๊กแมตช์ขนาดนี้ ถึงง่วงก็ต้องยอม! งานนี้ “พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร” จิตแพทย์คนเก่งจาก รพ.กล้วยน้ำไท 1 จึงได้แวะเอาเคล็ดลับวิธีการ “ทดเวลาหลับ” หรือเคล็กไม่ลับการนอนชดเชยช่วงเวลาที่อดนอนระหว่างบอลโลกมาฝากกัน

“คนเราควรจะนอนตอนกลางคืน แล้วตื่นเช้า แต่หากทำสลับกันจะทำให้ต่อมไพเนียล เริ่มสร้างฮอร์โมนไม่สม่ำเสมอ ทำให้อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ สมองและระบบประสาททำงานได้ไม่เต็มที่ การสั่งงานของสมองช้า การทำงานประสานระหว่างมือ และตา อาการจะเหมือนกับผู้ที่ได้รับสารพิษ ทำให้เกิดอันตรายในการขับรถ นอกจากนี้ยังทำให้ขี้กังวล ไตทำงานหนักขึ้น ท้องผูก ภูมิต้านทานต่ำ ป่วยง่ายขึ้น และหายช้าลง”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า การนอนของคนเรานั้นเป็นรอบ (Sleeping Cycle) ซึ่ง 1 รอบกินระยะเวลาประมาณ 90-110 นาที ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคน และแต่ละวันก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในวันนั้น และสิ่งที่ได้รับ เช่น การดื่มกาแฟ แอลกอฮอลล์ การออกกำลังกาย และความเครียด

“การนอนช่วงดูบอลโลก ควรจะนอนให้ครบรอบการนอน เช่น ถ้าวันนี้จะต้องตื่นตี 1 ก็ควรนอนหลับไปให้ครบ 1 รอบก่อน แล้วค่อยนอนอีกครั้งเมื่อดูบอลจบตอนประมาณตี 3 แต่ถ้านอนหลายรอบการนอนมากเกินไปก่อนตื่นขึ้นมาดูบอล อาจส่งผลให้นอนไม่หลับเมื่อดูบอลจบ แนวทางคร่าว ๆ ในการนอนที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียน้อยที่สุดในช่วงดูบอลโลก คือถ้าต้องการดูแมตช์ช่วงตี 1 อาจจะเข้านอนตอน 5 ทุ่ม - 5 ทุ่มครึ่ง แล้วตั้งนาฬิกาปลุกไว้เพื่อตื่นขึ้นมาดูฟุตบอลตอนตี 1 แล้วค่อยนอนต่อตอนตี 3 แต่ถ้าตื่นไม่ไหวก็ ไม่ควรฝืน ควรนอนต่อเนื่องไปเลย”

แต่แม้จะแนะนำวิธีการแก้ปัญหาการอดนอนเมื่อยามจำเป็นแบบนี้ พญ.เรขา ก็ยังคงย้ำว่า การนอนแบบที่แนะนำ ก็ยังทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดชื่นเท่ากับการนอนต่อเนื่องตามปกติอยู่ดี ดังนั้นไม่ควรจะทำบ่อยๆ เรียกได้ว่า เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินที่อดนอนก็พอจะได้

“การ นอนแบบนี้ไม่ได้ทำให้สดชื่นในตอนเช้า ดังนั้น จึงควรหาเวลางีบหลับในตอนกลางวัน สักประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง บ้าง ก็จะช่วยลดความอ่อนล้า และง่วงนอนได้ ที่สำคัญ ควรนอนให้มีคุณภาพ หลับให้สนิท ห้องนอนต้องมืดสนิท อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีกลิ่นอับชื้น ไม่ควรฟังวิทยุ หรือเปิดทีวีทิ้งไว้ เนื่องจากจะทำให้สมองตื่นตัว และนอนในห้องนอนที่อุณหภูมิเย็นกำลังสบาย ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป” พญ.เรขา ทิ้งท้าย ก่อนจะย้ำด้วยว่า วิธีดังกล่าวไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง โรคหัวใจวาย ฯลฯ เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตได้ ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง การนอนที่ดีที่สุด คือ การหลับสนิทอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรนอนด้วยวิธีดังกล่าวเป็นประจำ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว